ขั้นตอนการทำนาปลูกข้าวอย่างมืออาชีพวิธีที่ได้ผลผลิตที่ยั่งยืน

ขั้นตอนการทำนาปลูกข้าวอย่างมืออาชีพวิธีที่ได้ผลผลิตที่ยั่งยืน

1. การทำนา

การทำนา หมายถึง การปลูกข้าวและการดูแลรักษาต้นข้าวในนา ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกข้าวไปจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การปลูกข้าวในแต่ละท้องถิ่นจะมีวิธีการปลูกข้าวที่แตกต่างกันไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ และสังคมของท้อถิ่นนั้นๆ ในแหล่งที่ต้องอาศัยน้ำจากฝนเพียงอย่างเดียว ก็จะต้องกะระยะเวลาการปลูกข้าวให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่มีฝนตกสม่ำเสมอ และเก็บเกี่ยวในช่วงที่ฤดูฝนหมดพอดี
การทำนาปลูกข้าว
การทำนา

5 ประเภทของนา

  • นาโตก เป็นนาที่อยู่บนพื้นที่สูงกว่าบริเวณใกล้เคียง อาจมีลักษณะเป็นที่ราบสูง หรือโนนหลังเต่า ตามลักษณะพื้นที่ดังกล่าวทำให้ต้องพึ่งน้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่เท่านั้น แต่อาจรวมรวมน้ำได้จากพื้นที่สูงกว่าในบริเวณใกล้เคียงบ้างแต่เป็นลักษณะ น้ำไหลบ่าอย่างชั่วคราว แต่อาจมีการทำคันกั้นน้ำให้รวมไหลเข้าที่นาได้บ้าง ดังนั้นพื้นนาส่วนนี้จึงเพียงใช้ผลิตข้าวได้ดีในปีที่ฝนตกสม่ำเสมอและหนักช่วงปลายฤดูฝนเท่านั้น
  • นาฮอม เป็นนาลักษณะของพื้นที่น้ำถาวร ที่มีน้ำไหลเฉพาะช่วงหลังฝนตกหนักและพื้นที่สองข้างทางเป็นลาดชันสูงโดยสภาพของลุ่มน้ำแล้วมีการพังทลายของดิน เข้าสู่ระบบของลุ่มน้ำเพียงอย่างเดียว เป็นส่วนใหญ่นาฮอมเป็นนาที่อาจได้รับน้ำ ทั้งที่ฝนที่ตกพื้นที่ และน้ำที่ไหลมาทางดังกล่าว อาจต้องมีการ ทนน้ำ วิดน้ำ หรือสูบน้ำเข้านา ของพื้นที่ จึงจะทำนาในพื้นที่ได้สม่ำเสมอ
  • นาห้วย เป็นนาลักษณะทางน้ำถาวรเล็กๆ ที่มีน้ำไหลไม่ตลอดปีบริเวณที่จะพัฒนาเป็นนาห้วยมักมีความลาดชันปานกลาง โดยเริ่มจากที่ลาดชันน้อยตามริมห้วยขึ้นไปจนถึงลาดชันมากห่างออกประมาณ 100-300 เมตร ฉะนั้นจึงยังมีความแตกต่างของสภาวะผลผลิตของนาห้วยอยู่อีก โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมมีไม่มากนัก ถึงแม้จะมีก็อาจทำให้เกิดผลเสียในวงแคบ
  • นาทุ่ง เป็นนาที่อยู่ในกลุ่มน้ำตอนกลางจนถึงตอนล่าง มีพื้นที่กว้างมีความลาดชันน้อยและมีลำน้ำโดยทั่วไปจะมีน้ำไหลตลอดปี จึงทำให้มีน้ำตามฤดูกาลมากจนถึงมีน้ำท่วมในบางปี ปีใดน้ำไม่ท่วมผลผลิตจะได้สูงกว่าพื้นที่อื่น อันเนื่องมากจากการควบคุมน้ำง่ายกว่าและดินอุดมสมบูรณ์
  • นาทาม เป็นนาลักษณะของพื้นที่มีน้ำท่วมในทุกๆ ปี มีพืชที่ทนน้ำเป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ ขึ้นอยู่โดยรอบบริเวณ ส่วนดิน (ดินทาม) จะมีลักษณะเป็นดินร่วนจนถึงดินเหนียวขึ้นอยู่กับกระแสน้ำของพื้นที่นั้น ส่วนใหญ่แล้วดินที่เกิดจากนาทามจะมีอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง ทั้งนี้นาทามยังเป็นนาที่มีอัตราเสี่ยงของการโดนน้ำท่วมสูงมาก ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างเขื่อนขั้นมาก็ตาม จึงทำให้เกิดปัญหาในด้านของวัชพืชที่ขึ้นอยู่โดยรอบ

ประวัติความเป็นมาการทำนาปลูกข้าว

ข้าวที่มนุษย์บริโภคมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวปลูกเอเซีย (Oryza sativa) และข้าวปลูกแอฟริกา (Oryza glaberrima) ข้าวที่ปลูกอยู่ในทวีปเอเซีย มีทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นได้แก่ ประเทศอินเดีย ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ส่วนข้าวที่ปลูกในทวีปแอฟริกามีแหล่งปลูกเริ่มแรกอยู่ในแอฟริกาตะวันตก จากนั้นแพร่กระจายไปทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา การศึกษาถึงบรรพบุรุษของข้าวพบว่าปลูกกันอย่างกว้างขวางมานานแล้ว แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตามจะยอมรับกันว่าข้าวที่ปลูกทั้งสองชนิดคือ ข้าวปลูกเอเซีย และข้าวปลูกแอฟริกา มีวัตนาการมาจากข้าวป่าที่มีความใกล้ชิดกันคือมีจำนวนโครโมโซมเหมือนกัน ข้าวปลูกเอเซีย O. sativa มีความสัมพันธ์ใกล้ชิตกับ O. breviligulata วิวัฒนาการของข้าวปลูกทั้งสองชนิดเกิดขึ้นคนละเส้นทางกันโดยมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ปัญหาที่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนในขณะนี้คือ ข้าวปลูกมีวิวัฒนาการจากข้าวป่าข้ามปีหรือข้าวป่าปีเดียว โดยมีการศึกษาและให้ข้อคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องบรรพบุรุษของข้าวปลูกเอเซีย ซึ่งมีแนวคิดเห็นแตกต่างกันไปที่สามารถแยกเป็นสองประเด็นคือ ข้าวปลูกมีวิวัฒนาการจากข้าวป่าโดยตรงซึ่งมีวิวัฒนาการจากข้าวป่าข้ามปีมาเป็น ข้าวป่าปีเดียว และเป็นข้าวปลูกตามลำดับ อีกประเด็นหนึ่งคือ จากข้าวป่าข้ามปีมาเป็นข้าวป่าปีเดียว และข้าวปลูกพร้อมๆกัน แต่โดยสภาพรวมแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าข้าวป่าข้ามปีเป็นบรรพบุรุษแรกเริ่มของข้าวก่อนที่จะพัฒนามาเป็นข้าวปลูก
การปลูกข้าวในประเทศไทยเริ่มมาประมาณ 3,000-5,000 ปีมาแล้ว ในระยะแรก การปลูกข้าวจะอยู่ในบริเวณที่สูงหรือภูเขา โดยมีหลักฐานการพบเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีอายุถึง 3,000-3,500 ปีก่อนคริสตกาลที่ถ้ำป่าปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และรอยแกลบในภาชนะดินเผาที่อำเภอบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี มีอายุ 2,000-3,500 ปีก่อนคริสตกาล รวมทั้งพบเศษเครื่องปั้นดินเผามีรอยแกลบปรากฏอยู่ที่บ้านโนนนกทา ตำบล บ้านโคก อำเภทภูเวียง จังหวัดขอนแก่น จากการวิจัยพบว่าเครื่องปั้นดินเผามีอายุอย่างน้อย 3,500 ปีก่อนคริสตกาล จึงสันนิษฐานว่าการปลูกข้าวในประเทศไทยมาแล้วประมาณ 5,400 ปี ในประเทศจีนหรือประเทศอินเดียปลูกข้าวมาประมาณ 1,000 ปี เท่านั้น
การรวบรวมร่องรอยของแกลบที่โบราณสถานหลายแห่งพบว่า การปลูกข้าวระยะแรก ในประเทศไทยจะปลูกบริเวณที่ราบสูงหรือที่ดอน ข้าวส่วนใหญ่มีเมล็ดป้อมและใหญ่ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16-20 มีการปลูกข้าวเมล็ดเรียวมากขึ้น เนื่องจากเหมาะสมกับที่ราบลุ่มภาคกลาง อีกประการหนึ่งการเกิดสังคมเมืองที่มีศูนย์กลางอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ลพบุรี สุพรรณบุรี และอยุธยา โดยได้รับอิทธิพลจากขอมที่ปลูกข้าวเมล็ดเรียวยาวมาก่อน

ความสำคัญของข้าว

ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรโลก ส่วนใหญ่เป็นประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา และยังเป็นอาหารเสริมของประชากรอีกส่วนหนึ่ง ประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตข้าวของโลกมีการผลิตและบริโภคอยู่ในทวีปเอเซีย
คนไทยปลูกข้าวทำนาและบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักมาตั้งแต่สมัยโบราณ ข้าวมีความสำคัญกับชีวิตของคนไทยไม่ใช่เพียงเป็นอาหารหลักของทุกคนเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญที่ก่อให้เกิดความสามัคคี การร่วมแรงร่วมใจ เอื้อเฟื้อต่อกัน ในรูปแบบของวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เช่น วัฒนธรรมการลงแขก จะมีการช่วยกันปักดำ เกี่ยวและนวดข้าว ประเพณีแห่นางแมวภาคกลาง ประเพณีบุญบั้งไฟในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีบุญกลางบ้านที่จัดขึ้นในช่วงก่อนเตรียมดินปลูกข้าว การบูชาพระแม่โพสพที่เชื่อกันว่าเป็นเทพธิดาที่ปกปักรักษาข้าว ช่วยให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ การแสดงออกในลักษณะพิธีกรรมต่างๆ เช่น การทำขวัญข้าว การสู่ขวัญข้าว การสู่ขวัญวันยุ้งและสู่ขวัญวัวลาน ก่อให้เกิดการรวมตัวของคนไทยในกลุ่มต่างๆ

2. ลักษณะและการพัฒนาการของข้าว

ข้าวเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้า (Poaceae หรือ Gramineae) จัดอยู่ในสกุล (Genus) Oryza ลักษณะทั่วไปของข้าวประกอบดด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่ติดอยู่ใต้ดินเรียกว่าราก และส่วนที่อยู่เหนือดินเรียกว่าลำต้น รากข้าวเป็นระบบรากฝอย ทำหน้าที่ยึดลำต้นไม่ให้ล้ม ดูดน้ำและธาตุอาหารจากดิน ลำต้นข้าวประกอบด้วย ใบและปล้องหลายปล้องเชื่อมต่อกันด้วยข้อ ในระยะกล้าจะมองเห็นส่วนของปล้องหรือข้อไม่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่ยืดตัว ส่วนในระยะแตกกอปล้องจะยืดตัวทำให้มองเห็นชัดเจน สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการยืดของปล้องของต้นข้าว ได้แก่ ระดับน้ำ แสงสว่าง จำนวนประชากรต้นข้าว ข้อเป็นจุดกำเนิดของตาใบ ตายอด และตาราก ส่วนของตาใบจะเจริญพัฒนาเป็นใบข้าว ส่วนตายยอดจะพัฒนาเป็นหน่อและรวง สำหรับตารากจะพัฒนาเป็นราก
ใบข้าวทำหน้าที่สร้างอาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อนำแป้งและน้ำตาลมาใช้ในการเจริญเติบโตและการสร้างเมล็ด ข้าวพันธุ์หนักจะมีจำนวนใบมากกว่าพันธุ์อายุเบา ตั้งแต่เมล็ดเริ่มงอกจนถึงออกรวงต้นข้าวจะมีจำนวนใบโดยเฉลี่ยประมาณ 14 ใบ ช่อดอกข้าวจะพัฒนาจากปล้องสุดท้ายของลำต้น ดอกข้าวหลังจากการผสมพันธุ์จะพัฒนามาเป็นเมล็ดที่มีส่วนประกอบของ คัพภะ (Embryo) และ แป้ง (Starch) 2 ชนิด คือ อะไมโลเพคติน (Amylopectin) และ อมิโลส (Amylose)

การพัฒนาการของข้าวตั้งแต่ปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว แบ่งออกเป็น 6 ระยะ คือ

  • ระยะพักตัว หลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวแล้ว เมล็ดข้าวบางพันธุ์จะงอก เป็นต้นข้าวได้หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม บางพันธุ์จะไม่งอกแม้ว่าจะมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมลักษณะดังกล่าว เรียกว่าระยะพักตัว ประโยชน์ของระยะพักตัวคือ ป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวงอกขณะที่รอการเก็บเกี่ยว ส่วนข้อเสียของระยะพักตัว คือ ไม่สามารถใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกต่อเนื่องได้ในทันที วิธีการทำลายระยะพักตัวด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4-5 วัน หรือตากบนพื้นซีเมนต์ เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
  • ระยะกล้า หลังจากเมล็ดงอกเป็นรากอ่อนและต้นอ่อนแล้ว รากที่เจริญจากบริเวณเดียวกับรากอ่อนทำหน้าที่ดูดน้ำและอาหารนำไปเลี้ยงต้นอ่อนในระยะแรก แล้วจะมีรากชุดที่สองเกิดขึ้นจากข้อส่วนล่างของต้นกล้าต่อมาต้นอ่อนจะยืดตัวเป็นใบอ่อน ระยะแรก ต้นกล้าจะอาศัยอาหารจากเมล็ด และจะเริ่มปรุงอาหารได้เองเมื่อมีใบที่สาม และที่สี่ ตามลำดับ
  • ระยะแตกกอ หลังปักดำกล้าข้าวจะชะงักการเจริญเติบโตประมาณ 3-5 วัน และจะแทงหน่อใหม่ภายใน 7-10 วัน แตกกอในเวลา 50-60 วัน
  • ระยะกำเนิดช่อดอก ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก่อนการเก็บเกี่ยว และเร็วขึ้นเล็กน้อยเมื่อปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม
  • ระยะตั้งท้องและออกรวง หลังจากการกำเนินช่อดอก ต้นข้าวจะมีการพัฒนาของช่อดอกใช้เวลาประมาณ 30 วัน ต่อมาจะเข้าสู่ระยะออกรวง และดอกบานหลังจากออกรวงแล้ว 1 วัน ดอกจะบานระหว่างเวลา 7.00-12.00 น. ปัจจัยที่มีผลต่อการบานของดอกขึ้นอยู่กับความชื้นในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิ และความเข้มของแสง
  • ระยะการสุกแก่ของเมล็ด หลังจากการผสมเกสร ในช่วง 7-10 วัน ด้วยการสร้างแป้งมีลักษณะเป็นของเหลว เรียกว่าน้ำนม จากนั้นอีก 7-10 วันต่อมา แป้งจะแข็งตัวจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน หลังออกรวง
ลักษณะการพัฒนาการของข้าวระยะต่างๆ
ระยะการพัฒนาการของข้าว
ลักษณะโครงสร้างต้นข้าว
ลักษณะส่วนต่างๆ ของต้นข้าว
ลักษณะโครงสร้างเมล็ดข้าว
ลักษณะส่วนต่างๆ ของเมล็ดข้าว

3. การเลือกพื้นที่ปลูกข้าว

สภาพพื้นที่ปลูกข้าว

ข้าวเป็นพืชที่เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ ทั้งสภาพพื้นที่ลาดเอียงตามไหล่เขาที่มีน้ำขัง และในที่ราบลุ่ม น้ำลึกพื้นที่เหมาะสมในการผลิตข้าวให้ได้ผลดีต้องมีระดับน้ำลึกไม่เกิน 50 เซนติเมตร
ระดับและความสม่ำเสมอของพื้นที่ (Land level) และชนิดของดิน (Soil types) ปัจจัยที่บ่งชี้ความเหมาะสมของพื้นที่การปลูกข้าว
ระดับความสม่ำเสมอของพื้นที่ (Land level) มีความสำคัญต่อการปลูกข้าวที่สัมพันธ์กับความชื้นและระดับน้ำในแปลง การระบายน้ำเข้าออกในแปลง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยและการป้องกันกำจัดวัชพืช การจัดรูปแบบดินในเขตชลประทาน ทำให้เกษตรกรสามารถยกระดับผลผลิตให้สูงขึ้นได้
ชนิดของดิน (Soil type) ดินที่เหมาะสมในการปลูกข้าว ควรเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีค่าความ เป็นกรดเป็นด่าง (pH) 5.5-6.5 ชนิดของดินนอกจากจะมีผลเกี่ยวข้องกับแหล่งอาหารพืชแล้วยังมีผลต่อการควบคุมระดับความชื้นหรือระดับน้ำในแปลงนาอีกด้วย
พื้นที่ลุ่มควรเลือกใช้ข้าวพันธ์ที่ไวต่อแสงที่มีอายุหนัก และตอบสนองต่อปุ๋ยต่ำ พื้นที่ดินที่เป็นที่ดอน อาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว ควรจะปลูกข้าวไวแสงที่มีอายุเบา เนื่องจากขาดน้ำในปลายฤดูฝน จากการทอลองการใช้ปุ๋ยอัตราต่างๆ พันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 กับพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง พบว่าการให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน แต่ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อแสง
วิธีการเลือกพื้นที่ปลูกข้าว
การเลือกพื้นที่ปลูกข้าว

4. การเตรียมการปลูกข้าว

การเตรียมดิน

การเตรียมดินก่อนปลูกข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เหมาะสมกับการงอกและการเจริญเติบโต และ กำจัดวัชพืช โรคพืช และแมลงศัตรูพืชที่อาศัยอยู่ที่ตอซังและในดิน การเตรียมดินยังมีผลทำให้ ฟางข้าวตอซังข้าว และวัชพืช ถูกไถกลบลงในดินเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน นอกจากนี้ยังทำให้ธาตุอาหารพืชที่สะสมไว้ในชั้นล่างกลับขึ้นมาอยู่ในส่วนบนของผิวดิน
การเตรียมดินปลูกข้าวนชลประธาน หลังจากไถดะครั้งแรกแล้วปล่อยดินไว้ให้แห้ง เนื่องจากว่าในดินมีน้ำขังตลอดเวลาจะมีกระบวนการทางชีวเคมี ขาดออกซิเจน (Reduction) มักทำให้เกิดสารพิษสะสมและทำให้ธาตุอาหารบางชนิดอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เช่น กำมะถัน (Sulfur) และดินอยู่ในสภาพ Reduction ตลอดเวลา จะทำให้เกิดการสูญเสียธาตุโพแทสเซียม
การเตรียมดินสำหรับการปลูกข้าว แบ่งออกได้ 2 วิธีคือ การเตรียมดินเปียก หรือเตรียมดินที่มีน้ำขังและการเตรียมดินแห้ง หยอดข้าวแห้ง

1. การเตรียมดินสำหรับทำนาด้วยวิธีปักดำ

ไถดะลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร พลิกดินผึ่งแดดเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ สูบน้ำเข้านา และจึงไถแปรอีก 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดวัชพืชที่งอกขึ้นมาใหม่ แล้วย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง จากนั้นจึงคราดนำเอาเศษวัชพืชออก ปล่อยน้ำให้ท่วมขังดินไว้เพื่อรอการปักดำ การเตรียมดินโดยใช้ขลุบหรือลูกทุบย่ำฟางแทนการไถแปร เพื่อหมักให้เศษซากพืชย่อยสลายเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ นาที่มีเนื้อดินร่วนปนทรายหรือดินทรายหลังจากทำเทือกแล้วไม่ควรทิ้งไว้นานเกิน 1-2 วัน แล้วจึงปักดำเนื่องจากดินจะตกตะกอนจับตัวกันแน่นทำให้ปักดำลำบากขึ้น

2. การเตรียมดินสำหรับทำนาด้วยวิธีหว่านน้ำตม

ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมดินสำหรับปักดำแต่ในขั้นตอนการคราดจะต้องปรับระดับพื้นที่ให้เรียบสม่ำเสมอทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำได้สะดวกการงอกของเมล็ดข้าวจะสม่ำเสมอ เมื่อปรับดินสม่ำเสมอแล้วจึงแบ่งเป็นแปลงย่อย กว้างประมาณ 3-5 เมตร ส่วนความยาวขึ้นกับความเหมาะสมของแปลงนา วิธีการทำร่องใช้ไหกระเทียมผูกเชือกกลากหรือใช้เครื่องเปิดร่องติดรถไถเดินตามอย่างหนึ่งอย่างใด การทำเทือกเตรียมแปลงนี้ควรทำไว้ไม่เกิน 1 วัน ก่อนหว่านข้าว

3. การเตรียมดินสำหรับทำนาด้วยวิธีหว่านหรือยอดข้าวแห้ง

เป็นการเตรียมดินขณะที่ไม่มีน้ำขังในแปลงนา ในช่วงต้นฤดูฝนขณะที่ดินมีความชื้นแล้วจึงไถดะลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร พลิกกลับดินทิ้งไว้เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ดินชั้นล่างได้รับก๊าซออกซิเจนจากอากาศและเป็นการกำจัดวัชพืช โรคพืชและตัวอ่อนของแมลง แล้วไถแปรอีก 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดวัชพืชและย่อยดิน หว่านเมล็ดข้าวแห้งหยอดเมล็ดเสร็จแล้วคราดกลบ
ปัจจุบันมีเกษตรกรในหลายพื้นที่จะเตรียมดินโดยไม่ใช้วิธีไถดะและไถแปร แต่จะใช้จอบหมุน (Rotary) ติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่พรวนดินขณะดินมีความชื้นหรือมีน้ำขัง กลบเศษพืชลงดินในนาหว่านน้ำตมจะใช้ลูกหรือขลุบ ย่ำดินให้เป็นเทือกจากนั้นให้แต่งเทือกให้เรียมและหว่านข้าวตาม หากปลูกด้วยวิธีหว่านข้าวแห้ง ให้หว่านเมล็ดข้าวหลังจากใช้จอบหมุนเตรียมดินแล้วคราดกลบเพื่อป้องกัน นก หนู และแมลงศัตรูพืช
การเตรียมการปลูกข้าวสำหรับทำนาด้วยวิธีต่างๆ
การเตรียมการปลูกข้าว

การปลูกข้าวโดยวิธีไม่ไถพรวนหรือลดการไถพรวนดินหรือเตรียมดิน

1. การเตรียมดินโดยใช้สารกำจัดวัชพืช

การเตรียมดินชนิดนี้เหมะสมเฉพาะนาหว่านน้ำตม วิธีการคือเกษตรกรจะใช้สารกำจัดวัชพืช ได้แก่ ไกลโฟเซต หรือพาราควอต พ่นลงไปในแปลงนาเพื่อกำจัดวัชพืชแล้วจึงไขน้ำเข้านา แล้วจึงใช้ขลุบหรือลูกทุบย่ำให้เศษวัชพืชจมลงไปในดิน และดินเป็นเทือก ต่อจากนั้นจึงทำการลูบเทือกเพื่อหว่านข้าว วิธีการนี้มีข้อดีคือ ประหยัดต้นทุนในการเตรียมดิน แต่มีข้อเสียคือไม่ได้มีการพลิกกลับดินและตากดินเพื่อเติมอากาศหรือออกซิเจนลงไปในดินทำให้สะสมสารพิษ ธาตุอาหารบางชนิดอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้และเกิดการสูญเสียโพแทสเซียมในดิน ได้มีการทดลองเปรียบเทียบการเตรียมดินในลักษณะเช่นนี้ กับการไถพรวนแบบปกติ การเตรียมดินทั้ง 2 วิธีให้ผลผลิตข้าวไม่แตกต่างกันแต่การเตรียมดินในวิธีแรกจะลดต้นทุนประมาณ 150 บาท/ไร่

2. การปลูกข้าวแบบล้มตอซัง

เป็นการปลูกข้าวโดยไม่ไถพรวนและไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่งอกขึ้นมาจากตอซังที่ปลูกฤดูก่อน สำนักวิจัย ได้แนะนำเทคนิคและวิธีการปลูกข้าวแบบล้มตอซัง พร้อมทั้งข้อจำกัดหรือเงื่อนไขและข้อดีของการปลูกข้าวแบบล้มตอซังไว้ดังนี้
2.1 แปลงข้าวที่ปลูกข้าวรุ่นแรก ต้องมีการเตรียมดินและทำเทือกให้ได้ระดับสม่ำเสมอ ปลูกข้าวโดยวิธีหว่านน้ำตม ใช้พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อัตราเมล็ดพันธุ์ 15-20 กก./ไร่ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 12 วัน
2.2 ก่อนเก็บเกี่ยวข้าวรุ่นแรกประมาณ 10 วัน ถ้ามีน้ำขังให้ระบายน้ำออกจากแปลง ถ้าไม่มีน้ำขึงให้ไขน้ำเข้าแปลง เมื่อดินในแปลงเปียกทั่วกันแล้วให้ระบายน้ำออก เพื่อให้ดินมีความชื้นหมาดๆ คือไม่แห้งหรือเปียกเกินไปหลังเก็บเกี่ยว
2.3 เก็บเกี่ยวข้าวในระยะ "พลับพลึง" เกษตรกรจะต้องเกลี่ยฟางข้าวให้ทั่วทั้งแปลงอย่างสม่ำเสมอภายใน 1-3 วัน ด้วยอุปกรณ์ติดท้ายแทรกเตอร์ขนาดเล็กหรือใช้แรงงานคน เพื่อรักษาความชื้นคลุมวัชพืชและเป็นปุ๋ยหมักให้แก่ต้นข้าว
2.4 ใช้รถแทรกเตอร์หรือล้อยางย่ำตอซังให้ล้นนอนราบกับดินที่มีความชื้นหมาดๆ โดยย่ำไปในทิศทางเดียวกัน 2-3 เที่ยว นิยมย่ำตอนเช้ามืด เนื่องจากมีน้ำค้างช่วงให้ฟางข้าวนุ่มและตอซังล้มง่าย
2.5 หลังจากย่ำตอซังแล้วต้องคอยดูแลไม่ให้น้ำเข้าแปลง โดยทำร่องระบายน้ำเมื่อมีฝนตกลงมาต้องรีบระบายน้ำออกให้ทัน ถ้าปล่อยไว้หน่อข้าวจะเสียหาย
2.6 เมื่อหน่อข้าวมีใบ 3-4 ใบ หรือ 10-15 วัน หลังล้มตอซัง ไขน้ำเข้าแปลงพอประมาณแต่อย่าให้ท่วมขัง ใส่ปุ๋ยครั้งแรก สูตร 46-0-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่
2.7 หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งแรก 5-7 วัน ไขน้ำเข้าแปลงระดับสูง 5 เซนติเมตร
2.8 เมื่อข้าวอายุได้ 35-40 วัน หลังลัมตอซัง ใส่ปุ๋ยที่สอง สูตร 16-20-0 อัตรา 20-25 กก./ไร่
2.9 เมื่ออายุได้ 50-55 วัน หลังล้มตอซัง ถ้าข้าวเจริญเติบโตไม่ดีให้ใส่ปุ๋ยครั้งที่สาม สูตร 46-0-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่

5. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว

ในขั้นตอนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่ดี ต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้
1. ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ ไม่มีพันธุ์อื่น ไม่มีเมล็ดวัชพืช และไม่มีโรคแมลงเจือปน
2. ทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์เสียก่อน เมล็ดพันธุ์ที่ดีควรมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80%
3. คัดเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ และสม่ำเสมอ คัดแยกเมล็ดลีบ และสิ่งเจือปนด้วยมือหรือเครื่องคัดเมล็ด อีกวิธีหนึ่งคือนำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่น้ำในน้ำเกลือ โดยใช้น้ำสะอาด 10 ลิตร ละลายเกลือแกงอัตรา 1.7 กก. ทดสอบโดยการใช้ไข่ไก่สดลอยในน้ำเกลือ ถ้าน้ำเกลือมีความเข้มข้นเหมาะสม ไข่จะลอยขึ้นมีขนาดเท่าเหรียญ 5 บาท เมื่อได้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นพอเหมาะแล้ว นำข้าวแช่ ข้าวลีบและข้าวเมล็ดไม่สมบูรณ์จะลอยขึ้นที่ผิวน้ำเกลือ เมล็ดข้าวที่จมคือเมล็ดที่สมบูรณ์ ล้างด้วยน้ำเกลือให้สะอาดจึงนำเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อไป
4. ในกรณีที่คาดว่ามีโรคบางชนิดติดมากับเมล็ด เช่น โรคถอดฝักดาบ ควรจะคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคเสียก่อน
การเตรียมเมล็ดพันธุ์สำหรับหว่านข้าวงอก นำเมล็ดที่คัดได้ใส่ลงถุงผ้าดิบที่น้ำและอากาศสามารถซึมผ่านได้ แช่ลงน้ำสะอาดประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำไปหุ้มในที่ระบายอากาศได้ดีโดยใช้กระสอบป่านหรือผ้าอุ้มน้ำคลุม รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เป็นเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำไปหว่าน

>>> เมล็ดพันธุ์ข้าวที่แนะนำ <<<
วิธีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว
การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะนำมาปลูก

6. วิธีการปลูกข้าว

วิธีการปลูกข้าวแบบตกกล้า

การเตรียมดินตกกล้าปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมดินแบบหว่านน้ำตมแต่จะแตกต่างกันที่ขนาดของแปลง ขนาดของแปลงเหมาะสมควรกว้าง 1-2 เมตร การเตรียมเมล็ดพันธุ์สำหรับตกกล้าปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีหว่านข้าวงอก โดยเมล็ดพันธุ์ที่งอกแล้วหว่านลงในแปลงที่เตรียมไว้ ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 50 กรัม/พื้นที่ 1 ตร.ม. (80 กิโลกรัม/ไร่) ต้นกล้าในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ปักดำได้ 15-20 ไร่
ขั้นตอนและวิธีปลูกข้าวแบบตกกล้า
วิธีการปลูกข้าวแบบตกกล้า

วิธีการปลูกข้าวแบบปักดำ

การปลูกข้าวแบบปักดำมีขั้นตอนการปลูกดังนี้
ระยะปลูก การปักดำเป็นแถวทำให้สะดวกต่อการกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การพ่นยากำจัดโรคและแมลง ควรให้ข้าวแต่ละกอมีโอกาสได้รับอาหารและแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ ระยะปักดำขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ข้าว พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงควรใช้ระยะปักดำระหว่างแถวและระหว่างกอ 20x20 เซนติเมตร หรือ 20x25 เซนติเมตร ส่วนพันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสงควรใช้ระยะปักดำ 25x25 เซนติเมตร ปักดำ 3-5 ต้น/กอ ลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร จะทำให้ข้าวแตกหน่อใหม่ได้เต็มที่ การปักดำลึกจะทำให้ข้าวแตกกอได้น้อย ไม่ควรตัดใบกล้า เพราะจะทำให้เกิดแผลที่ใบ จะทำให้โรคเข้าทำลายได้ ควรตัดใบกล้าในกรณีที่จำเป็น เช่น ถ้าใช้ต้นกล้าอายุมาก ใบยาว ต้นสูง หรือ ลมแรง
อายุกล้า อายุกล้าที่เหมาะสมจะทำให้ข้าวตั้งตัวเร็ว พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงควรใช้กล้าอายุประมาณ 20-25 วัน สำหรับพันธุ์ข้าวไวต่อแสงควรใช้กล้าอายุประมาณ 25-30 วัน
ระดับน้ำในแปลง ควรมีระดับน้ำในนาน้อยที่สุด เพียงคลุมผิวดิน ควบคุมวัชพืชและประคองต้นข้าวไม่ให้ล้ม การควบคุมระดับน้ำหลังปักดำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะระดับน้ำลึกๆ จะทำให้ข้าวมีการแตกกอน้อยซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ควรจะควบคุมระดับน้ำลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร
ขั้นตอนและวิธีปลูกข้าวแบบปัดดำ
วิธีการปลูกข้าวแบบปักดำ

วิธีการปลูกข้าวแบบหว่านน้ำตม

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมเมล็ดพันธุ์สำหรับหว่านข้าวงอก อัตราเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม 15-20 กก./ไร่ ก่อนหว่านข้าวควรพิจารณาถึงสภาพของดินหรือเทือกในแปลงที่เตรียมเอาไว้ ถ้าเทือกเละเกินไปจะทำให้เมล็ดข้าวจมและเน่าได้ ดังนั้นถ้าเทือกเละมากควรทิ้งไว้สักระยะหนึ่งเพื่อให้ดินจับตัวกันแล้วจึงหว่านข้าว ลักษณะของดินที่เตรียมเทือกแล้ว ดินเละมักเป็นดินเหนียวและมีน้ำค่อนข้างมากแต่ถ้าเทือกแข็งเกินไปเมล็ดข้าวจะอยู่บนผิวดิน และอาจทำให้ความชื้นไม่เพียงพอ การแทงรากลงดินยากส่วนใหญ่จะพบในดินทราย ขั้นตอนการหว่านเมล็ดข้าวให้สม่ำเสมอควรแบ่งเมล็ดข้าวตามพื้นที่แปลงย่อย (Strips) ที่เตรียมไว้
ขั้นตอนและวิธีปลูกข้าวแบบหว่านน้ำตม
วิธีการปลูกข้าวแบบหว่านน้ำตม

วิธีการปลูกข้าวแบบหว่านข้าวแห้ง

การปลูกข้าวโดยวิธีหว่านเมล็ดข้าวแห้ง ทำเหมือนกับวิธีการปลูกพื้นที่ปลูกข้าวขึ้นน้ำและข้าวไร่ หรือในพื้นที่ปลูกข้าวนาสวน ที่ควบคุมระดับน้ำยากในกรณีที่เกษตรกรมีพื้นที่การทำนามาก การทำนาแบบปักดำหรือหว่านน้ำตมจะทำไม่ทันเวลา จึงใช้วิธีหว่านข้าวแห้งซึ่งเป็นการปลูกข้าวที่รวดเร็วที่สุด
ขั้นตอนและวิธีปลูกข้าวแบบหว่านข้าวแห้ง
วิธีการปลูกข้าวแบบหว่านข้าวแห้ง

7. การให้ปุ๋ย

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าว

ปุ๋ยอินทรีย์ที่เหมาะสมที่ใช้ในนาข้าว
1. ฟางและตอซังข้าว ปัจจุบันนี้การใช้เครื่องเกี่ยวข้าวทำให้ฟางข้าวทั้งหมดยังคงอยู่ในนาข้าวพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสงจะมีอัตราส่วนของ เมล็ด : ฟาง 1 : 1 คือ ผลผลิตข้าว 1 ตัน จะมีฟางข้าว 1 ตัน เช่นกัน ข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง หรือข้าวนาปีจะมีอัตราส่วนของ เมล็ด : ฟาง 1 : 2
2 ปุ๋ยพืชสด นิยมใช้พืชตระกูลถั่วชนิดต่างๆ ได้แก่ โสนอัฟริกัน ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วพุ่ม และ ถั่วพร้า ปัญหาที่พืชปุ๋ยสดคือความเป็นกรดของดิน พืชตระกูลถั่วจะเจริญเติบโตช้าในดินที่เป็นกรด
3. ปุ๋ยมูลสัตว์ สามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้บางส่วน เมื่อใส่ดินร่วนปนทรายและดินทรายด้วยมูลไก่อัตรา 600 กิโลกรัม/ไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ เท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่แนะนำ ให้ใส่ปุ๋ยมูลไก่ไม่เกิน 600 กิโลกรัม/ไร่
พื้นที่ลุ่มควรเลือกใช้ข้าวพันธ์ที่ไวต่อแสงที่มีอายุหนัก และตอบสนองต่อปุ๋ยต่ำ พื้นที่ดินที่เป็นที่ดอน อาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว ควรจะปลูกข้าวไวแสงที่มีอายุเบา เนื่องจากขาดน้ำในปลายฤดูฝน จากการทอลองการใช้ปุ๋ยอัตราต่างๆ พันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 กับพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง พบว่าการให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน แต่ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อแสง

การใส่ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี เนื่องจากว่าปุ๋ยเคมีให้ธาตุอาหารเพียงไม่กี่ธาตุ ทำให้เกิดการสูญเสียได้มาก หากใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี จะช่วยดูดซับธาตุอาหารไว้ทำให้ชะลอการสูญเสียธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีได้ อินทรีย์วัตถุในนาข้าวที่ใช้ได้สะดวกและมีปริมาณอย่างพอเพียงคือ ฟางข้าว เกษตรกรส่วนใหญ่มักเผาทิ้ง เพื่อเตรียมดินได้สะดวก หากปล่อยให้ฟางข้าวแช่น้ำ ทิ้งไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงไถกลบจะช่วยให้เตรียมดินได้ง่ายขึ้น
การให้ปุ๋ยในนาข้าว
การให้ปุ๋ยในนาข้าว

8. การดูแลรักษาแปลงนา

การดูแลรักษาแปลงนาหลังปลูกข้าว เพื่อให้ต้นข้าวเจริญเติบโตและได้ผลผลิตที่ดี
  • การรักษาระดับน้ำในนา น้ำในนานอกจากจะให้ความชื้นกับต้นข้าวควบคุมวัชพืชและลดการสูญเสียปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงในนา ให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ 10-15 เซนติเมตร ตลอดฤดูปลูก การปลูกข้าวแบบประหยัดน้ำโดยให้ดินเปียกสลับแห้ง (Intermittent irrigation) ในช่วง 20-60 วัน หลังหว่านเมล็ดข้าวจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำลง 30% และลดต้นทุนการจัดการน้ำได้ 20% โดยไม่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง
  • ใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำในช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
  • หมั่นกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ
  • การสำรวจและป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูข้าวตามความเหมาะสม
วิธีการดูแลรักษาแปลงนา
การดูแลรักษาแปลงนา

9. การเก็บเกี่ยวข้าวหลังเก็บเกี่ยวข้าว

เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว คือ การนวด ตาก ทำความสะอาด และเก็บรักษาข้าวให้ถูกต้องถูกวิธีและเหมาะสมทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวสูงและมีคุณภาพดีโดยยึดหลักปฏิบัติ เพื่อลดความสูญเสียปริมาณและคุณภาพข้าว เกษตรกรจะได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น

การสูญเสียข้าวในการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว

1. การสูญเสียข้าวด้านปริมาณ

การสูญเสียข้าวด้านปริมาณ ผลผลิตข้าวลดลง เนื่องจากการร่วงหล่นในขณะเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวตกหล่นในนา การนวดข้าวที่มีข้าวดีติดไปกับเศษฟางมาก ถูกนก หนู แมลงทำลาย และเมล็ดข้าวแตกหักมาก

2. การสูญเสียข้าวด้านคุณภาพ

การสูญเสียข้าวด้านคุณภาพ เช่น เปอร์เซ็นต์ข้าวที่ต่ำ เมล็ดเหลืองขึ้นรา มีกลิ่นเหม็น ความงอกเร็วและมีความงอกต่ำกว่ามาตรฐาน
• การสูญเสียคุณภาพข้าวด้านความงอก มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ว่าเมล็ดพันธุ์จะต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80% การเสื่อมคุณภาพจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติในการเก็บเกี่ยว และหลังเก็บเกี่ยว ตลอดจนสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ปริมาณฝนและน้ำค้าง อุณหภูมิสูงในขณะที่ความชื้นสัมพัทธ์สูงจะทำให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องทำการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ให้รวดเร็วที่สุดหลังการสุกแก่ หากปล่อยไว้นาน ก็จะทำให้เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพเร็วยิ่งขึ้น
• การสูญเสียข้าวด้านคุณภาพการสี คุณภาพการสีประเมินจากเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว (Head rice) การสีข้าวเปลือกถ้าสีแล้วได้เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวขาวมาก หรือเปอร์เซ็นต์ข้าวหักน้อย แสดงว่าข้าวเปลือกมีคุณภาพสูง (ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว มากกว่า 50%) คุณภาพการสี จะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับการร้าวของเมล็ดข้าว มีสาเหตุเนื่องจากการปฏิบัติไม่ถูกต้องดังนี้
- การเก็บเกี่ยวและการนวด
- การลดความชื้นเมล็ด
- เมล็ดข้าวที่แห้งเมื่อได้รับความชื้น เมล็ดข้าวจะขยายตัวขึ้น การหดตัวและขยายตัวของเมล็ดสลับกัน ทำให้เมล็ดร้าว ข้าวเปียกฝน 1 ครั้ง 2 ครั้ง ทำให้ต้นข้าวลดลง ร้อยละ 25-32
- กระบวนการขัดสีข้าว

วิธีเก็บเกี่ยวข้าว

ระยะเก็บเกี่ยว

ข้าวที่มีการดูแลรักษาจนเมล็ดเจริญเติบโตที่ถึงจุด physiological maturity เมล็ดจะมีองค์ประกอบทุกอย่างสมบูรณ์ เช่น ความชื้นของเมล็ด ขนาดของเมล็ด น้ำหนักแห้งของเมล็ด สีของเมล็ด ความงอก (germination) ความมีชีวิต (viability) ความแข็งแรงของเมล็ด (seed vigor) และมีคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ (seed health) การเก็บเกี่ยวข้าวเมื่อเมล็ดเจริญเติบโตเต็มที่ ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีที่สุด การเก็บเกี่ยวข้าวล่าช้าเมล็ดก็จะเสื่อมคุณภาพเร็วยิ่งขึ้นการเสื่อมคุณภาพของเมล็ด (seed deterioration) เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาและสภาพแวดล้อม การเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงได้เมล็ดคุณภาพดี ต้นข้าวจะต้องเจริญเติบโต ออกดอกและสุกแก่อย่างสม่ำเสมอ เมล็ดข้าวมีน้ำหนักสูงที่สุดภายใน 21 วัน หลังจากผสมเกสรแล้ว ดอกข้าวทั้งรวงใช้เวลาประมาณ 7 วัน จึงผสมเกสรได้หมดรวมเวลาประมาณ 30 วัน หลังออกรวงแล้วจึงเก็บเกี่ยว การศึกษาคุณภาพการสีของข้าว 15 พันธุ์ในสถานีทดลองข้าวต่างๆ 9 แห่งพบว่า การเก็บเกี่ยวในระยะ 30-37 วัน และ 44 วันหลังข้าวออกดอกได้เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวที่ 44.27, 36.80 และ 28.71 ตามลำดับ เพื่อให้ข้าวมีคุณภาพการสีที่ดี ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อมีความชื้นประมาณ 20% จากรายงานของสถาบันวิจัยข้าวได้ศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์ กข 23 ให้ผลไปทำนองเดียวกันคือ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวข้าวที่เหมาะสมที่สุดทำให้ผลผลิตสูงและดี นับจากวันออกดอกแล้วประมาณ 28 วัน ระยะนี้จะเห็นรวงข้าวโน้มลง เมล็ดที่โคนรวงยังคงมีสีเขียวบ้าง โดยเฉพาะใบธงยังมีสีเขียว ทั้งนี้วันออกดอกหมายถึงวันที่ข้าวออกดอกแล้วประมาณ 75-80% ของทั้งแปลง
ขั้นตอนและวิธีการเก็บเกี่ยวข้าว
วิธีเก็บเกี่ยวข้าว

การนวดข้าว

การนวดข้าวทำได้หลายวิธี เช่น ใช้คนนวด เครื่องนวด หรือเครื่องเกี่ยวนวด การนวดทุวิธีต้องระมัดระวังการสูญเสียจากการร่วงหล่น ติดไปกับฟางข้าว เมล็ดแตกร้าวหรือแตกหัก การนวดที่ปฏิบัติกันในประเทศไทยมีดังนี้

  • การใช้คนนวดหรือนวดด้วยเท้า เป็นวิธีที่ดีทำให้ข้าวไม่เสียคุณภาพ และมีการสูญเสียน้อยแต่ต้องใช้เวลาและเปลืองแรงงานมาก ไม่เหมาะกับการทำนาจำนวนมาก เหมาะกับข้าวที่จะเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์
  • การใช้แรงงานสัตว์นวด ข้อดีคือไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพการสีข้าวแต่จะมีการสูญเสีย เนื่องจากนวดไม่หมดและมีสิ่งเจือปน
  • การนวดโดยวิธีฟาด อาจฟาดกับลานข้าวโดยตรงในครุหรือภาชนะอื่นๆ การนวดวิธีนี้จะทำให้เกิดการสูญเสียอันเนื่องมากจากแรงของการฟาดทำให้มีเมล็ดบางส่วนกระเด็นสูญหายไปและบางส่วนจะตกค้างอยู่ในรวงที่นวดไม่หมด
  • การนวดด้วยรถไถหรือแทรกเตอร์ วิธีนี้เมล็ดข้าวจะแตกร้าวหรือหัก ส่วนมากการสูญเสียเกิดขึ้นเนื่องจากเมล็ดข้าวเปลือกถูกรถบดแตกหักและนวดไม่หมด
  • การนวดด้วยเครื่องนวด นิยมใช้กันในแหล่งที่ยังไม่มีรถเกี่ยวนวด ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีเครื่องทำความสะอาดในตัวทำให้สะดวกและรวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายน้อย เหมาะแก่เกษตรกรที่มีการทำนามากๆ แต่มีข้อควรระวังคือ จะต้องปรับเครื่องนวดให้เหมาะสม มิฉะนั้นจะทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเช่น เครื่องดูดลมมากเกินไป เมล็ดดีจะถูกดูดติดไปมากหรือเกิดการแตกหักสูง ควรปรับแต่งเครื่องให้เหมาะสม
  • การใช้เครื่องเกี่ยวนวด เมล็ดข้าวที่นวดจะออกมาจากเครื่องนวดและบรรจุในถังเก็บหรือในกระสอบความสูญเสียข้าวขึ้นอยู่กับความเร็วของเครื่องเกี่ยวนวด อายุข้าว ความชื้นของเมล็ด และการล้มของข้าว นอกจากนี้พบว่า การเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้เครื่องเกี่ยวนวดที่ผลิตในประเทศไทยจะมีความสูญเสีย เฉลี่ยร้อยละ 3.68 และข้าวที่เก็บเกี่ยวได้มีความบริสุทธิ์ 95.75% และคุณภาพการสีและความงอกของเมล็ด จะมีคุณภาพใกล้เคียงกับการเก็บเกี่ยว ด้วยมือและใช้เครื่องนวด ข้อควรระวังเกษตรกรต้องทำความสะอาดก่อนใช้งานและต้องลดความชื้นให้เหลือ 12-14%
ขั้นตอนและวิธีการนวดข้าว
การนวดข้าว

การลดความชื้นเมล็ด

ความชื้นเมล็ดข้าวมีความสำคัญต่ออายุการเก็บรักษา หลังเก็บเกี่ยวและนวดข้าวแล้วต้องทำให้ความชื้นเมล็ดแห้งเร็วที่สุด ความชื้นที่เหมาะสมของเมล็ดที่เก็บรักษาไว้ในสภาพไม่มีการควบคุมอุณหภูมิจะเก็บข้าวเปลือกไว้นาน 2-3 เดือน เมล็ดที่มีความชื้น 13-14% จะเก็บรักษาไว้นานกว่า 3 เดือน เมล็ดที่มีความชื้นให้ต่ำกว่า 12% จะเก็บได้นาน

การลดความชื้นในเมล็ดข้าวทำได้ 2 วิธี คือ

1. วิธีธรรมชาติ (natural drying or sun drying) ใช้แสงแดดเป็นแหล่งความร้อนและอากาศทำให้ความชื้นลดลงเกษตรกรลดความชื้นของข้าวโดยวิธีธรรมชาติ ได้ 2 แบบคือ

1.1 ตากข้าวทิ้งไว้ในนาหลังเก็บเกี่ยว การนำข้าวไปนวดทันที โดยไม่ตากข้าวไว้ในนาจะได้ข้าวมีคุณภาพการสีดีที่สุดการตากข้าวทิ้งไว้ในนามีผลทำให้คุณภาพการสีของข้าวลดลงการตากไว้ในนานานขั้นจะยิ่งทำให้คุณภาพการสีของข้าวลดลง นักวิชาการแนะนำให้นำไปนวดทันทีแล้วจึงนำมาตากหรือใช้เครื่องอบลดความชื้น

1.2 การตากในลานหลังนวดข้าวแล้ว การลดความชื้นด้วยแสงแดด ช่วยลดความเสียหายของเมล็ดข้าวได้ดีกว่าการตากข้าวไว้ในนา การตากข้าวในลามให้ได้ผลดีมีข้อปฏิบัติดังนี้คือ

1.2.1 ควรมีวัสดุที่สะอาดและแห้งรองรับ เช่นผ้าใบหรือเสื่อที่สานด้วยไม้ไผ่ ไม่ควรตาก กับพื้นซีเมนต์หรือถนนโดยตรง เพราะเมล็ดอาจได้รับความร้อนจากพื้นสูงเกินไปทำให้เกิดการแตกร้าวกายในเมล็ดได้ในลานนวดก็ควรจะมีวัสดุรองรับ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเจือปน และความชื้นจากพื้นดินก็จะมารวมอยู่ที่ผิวดินทำให้เมล็ดที่ติดกับผิวดินมีความชื้นสูง

1.2.2 ความหนาของข้าวที่ตากควรไม่เกิน 5-10 เซนติเมตร หากตากเมล็ดหนาเกินไปจะทำให้การระบายอากาศไม่ดี ข้าวแห้งช้า การตากเมล็ดบางเกินไปจะทำให้อุณหภูมิของข้าวสูงถึง 55-70 องศาเซลเซียส จะมีผลต่อคุณภาพการสี เพราะเกิดการแตกร้าวขึ้นภายในเมล็ดและเกิดเมล็ดเหลืองได้ ระหว่างการตากควรหมั่นกลับข้าวทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือวันละ 4 ครั้ง จะช่วยลดความชื้นได้อย่างรวดเร็ว

1.2.3 ความชื้นสัมพัทธ์ เมล็ดที่กำลังลดความชื้น ต้องต่ำกว่าความชื้นสัมพัทธ์ที่จุดสมดุลย์ของเมล็ด การลดความชื้นจึงจะได้ผล ทั้งนี้ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ควรเกิน 60%

1.2.4 เวลากลางคืนควรใช้วัสดุคลุมกองเมล็ดข้าวเพื่อป้องกันน้ำข้างหรือฝน

1.2.5 เวลาตากเมล็ดข้าวไม่ควรตากนานเกินไป เมื่อข้าวมีความชื้นประมาณ 12-14% ให้หยุดตาก

ข้าวที่จะเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ จะเก็บรักษาได้นาน มีความงอกสูง ความชื้นของเมล็ดต่ำ และขณะเก็บต้องพยายามรักษาให้ระดับความชื้นของเมล็ดต่ำอยู่เสมอ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะเก็บไว้ทำพันธุ์ควรจะผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นให้เหลือ 9-10%
2. การใช้เครื่องอบ (artificial drying) การใช้เครื่องอบ มีข้อดีคือ สามารถทำได้ทุกสภาวะอากาศไม่ว่าฝนจะตกหรือมีแสงแดดน้อย ไม่ต้องเปลืองลานตาก สามารถควบคุมการลดความชื้นให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ ใช้เวลาการลดความชื้นไม่นาน และยังสามารถป้องกันความเสียหายของคุณภาพการสีได้ดีกว่าวิธีธรรมชาติ แต่มีข้อเสีย คือ เสียค่าใช้จ่ายสูง การเปรียบเทียงคุณภาพการสีข้าวที่ตากลดความชื้นและใช้เครื่องอบแห้งพบว่า วิธีการผึ่งแดดจะได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวระหว่าง 40-50% และน้อยกว่า 40% การใช้เครื่องอบแห้งได้ข้าวเต็มเมล็ดระหว่าง 50-60% การลดความชื้นของข้าวเปลือก อุณหภูมิที่ใช้ไม่ควรสูงเกิน 50 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ไม่ควรเกิน 43 องศาเซลเซียส
ข้อเสียของการลดความชื้นในเมล็ดข้าวล่าช้า จะทำให้เมล็ดมีความเสียหายจากเชื้อรา ทำให้เกิดข้าวเมล็ดเหลือง และเมล็ดพันธุ์เสื่อมความงอกเร็วขึ้น
วิธีและขั้นตอนการลดความชื้นเมล็ดข้าว
การลดความชื้นเมล็ดข้าว

การทำความสะอาดเมล็ดข้าว

เป็นการแยกสิ่งเจือปนต่างๆ ออกจากเมล็ดข้าว เช่น เมล็ดวัชพืชเมล็ดข้าวเสีย เศษของใบ ลำต้น กรวด หิน ดิน ทราย และเศษโลหะต่างๆ เป็นต้น การทำความสะอาดข้าวอาศัยความแตกต่างของขนาดและน้ำหนักของเมล็ดข้าวเป็นหลักด้วยวิธี ฝัดด้วยกระด้ง การสาดข้าว การใช้เครื่องสีฝัด หรือการใช้เครื่องคัดทำความสะอาดขนาดใหญ่

การเก็บรักษาเมล็ดข้าว

วิธีการเก็บรักษาข้าว แบ่งออกเป็น 4 วิธี คือ
1. การเก็บในสภาพปกติไม่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเก็บ เป็นวิธีที่นิยมใช้ในประเทศไทยเพราะลงทุนน้อย
2. การเก็บเกี่ยวในที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ไม่ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เช่น การเก็บไว้ในตู้เย็นหรือในไซโลเก็บข้าวที่มีการเป่าลมเย็น
3. การเก็บในที่ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ ไม่ควบคุมอุณหภูมิ ได้แก่ การเก็บข้าวไว้ในภาชนะเก็บมิดชิดสามารถป้องกันการเคลื่อนที่ผ่านเข้าออกของอากาศได้ เช่น การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในถังปี๊บ หรือ ถังพลาสติก การเก็บด้วยวิธีนี้ ความชื้นของเมล็ดข้าวก่อนเก็บต้องไม่เกิน 10%
การลดความชื้นของเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เหลือ 6% แล้วเก็บในปี๊บปิดผนึกฝาให้แน่น เก็บรักษาในโรงเก็บธรรมดาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวได้นาน 8 ปี ความงอกของเมล็ดจะลดลงเหลือ 80% ส่วนเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่นำมาปลูกในประเทศไทย เมื่อเก็บรักษาในถังปี๊บโดยลดความชื้นให้เหลือ 9% จะยืดอายุการเสื่อมความงอกนาน 40 เดือน และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ความชื้น 10% ถังพลาสติก หรือ ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จะเก็บได้นาน 2 ปี
การเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวปริมาณหลายตันเก็บรักษาโดยใช้ผ้าพลาสติกทาร์โพลิน (ผ้าพลาสติกที่ใช้รมก๊าซฟอสฟีนกำจัดแมลงศัตรูโรงเก็บ) ปิดคลุมกองเมล็ดพันธุ์แล้วใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูฉีดพ่นภายนอกผ้าทาร์โพลินทุกๆ 4 เดือน เพื่อป้องกันแมลงศัตรูทำลายผ้าทาร์โพลิน จะเก็บรักษาเป็นเมล็ดพันธุ์ได้นานหลายปี การลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ลงเหลือ 9-10% และเก็บรักษาภายใต้ผ้าทาร์โพลิน สามารถยืดอายุการเก็บรักษาจากวิธีปกติทั่วไป 8 เดือน ยืดอายุได้ถึง 28 เดือน หรือ 2 ปี 4 เดือน นับจากหลังเก็บเกี่ยว
4. การเก็บในที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สามารถป้องกันและลดความเสียหายของเมล็ดข้าวและคงคุณภาพดีได้นานหลายสิบปี แต่เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมาก จึงนิยมใช้สำหรับงานอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ (germplasm bank) เท่านั้น

วิธีเก็บรักษาข้าวที่ดีควรปฏิบัติดังนี้

1. ข้าวที่นำเข้าเก็บรักษา
1.1 ความชื้นของข้าว ไม่ควรสูงเกิน 14% และเมล็ดข้าวควรมีความชื้นไม่เกิน 12%
1.2 ความสะอาด ข้าวที่จะเก็บต้องสะอาดไม่มีสิ่งเจือปน เช่น เศษฟาง ตอซัง วัชพืช กรวด หิน ดิน และทรายเป็นต้น
1.3 ปลอดจากโรคและแมลงศัตรูพืชโดยการตรวจสอบแมลงศัตรูพืชก่อนเก็บในยุ้งฉาง
1.4 ต้องเก็บเกี่ยวในระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา ไม่เร็วหรือช้าเกินไป
2. สภาพของโรงเรือนเก็บ ต้องทำความสะอาดโรงเรือนเก็บ โดยการฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลง ป้องกันกำจัดแมลง ตามผนังโรงเก็บ เพดาน และ ผนังโรงเก็บด้านนอก ก่อนนำข้าวใหม่เข้าเก็บรักษากระสอบเก่าที่ใช้เก็บข้าวมาแล้วต้องทำความสะอาดก่อนนำมาใช้
3. อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเก็บ ถ้ามีสูงเกินไปจะทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้นจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดี ในสภาพอุณหภูมิ 20-40 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 60% ส่วนแมลงศัตรูในโรงเก็บจะ เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิระหว่าง 21-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-80% ดังนั้นต้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในโรงเก็บให้เหมาะสม
4. ลักษณะโรงเก็บและลักษณะการเก็บรักษา โรงเก็บที่ดีควรตั้งอยู่บนที่ดอนและแห้ง รอบโรงเก็บต้องสะอาดโล่งไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ตัวโรงเก็บต้องมีผนังปิดมิดชิด แน่นหนา มีหลังคากันแดด กันฝน และน้ำค้างได้ควรยกพื้นสูง 80 เซนติเมตร เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ การเก็บเมล็ดข้าวมี 2 แบบคือ
4.1 การเก็บแบบเป็นกองรวม การเก็บแบบเป็นกองรวมจะสะดวก ประหยัดเวลา แรงงาน และพื้นที่เก็บ แต่โอกาสเกิดความเสียหายง่าย หากข้าวมีความชื้นสูง เหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยวไว้ในระยะสั้น แต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บเป็นเวลานานควรเคลื่อนย้ายข้าวหรือพลิกกลับกองข้าว เพื่อให้ความร้อนและความชื้นที่ได้ถ่ายเทระหว่างการเคลื่อนย้าย หรือพลิกกลังกอง พยายามลดความชื้นของข้าวให้ต่ำที่สุดก่อนเก็บแบบกอง
4.2 การเก็บในกระสอบป่าน ถุงผ้า ถุงปุ๋ย ถุงพลาสติก และถังน้ำมัน
5. การจัดเก็บในขณะเก็บรักษาเมล็ดข้าว
5.1 ข้าวใหม่ไม่ควรเก็บไว้บริเวณเดียวกับข้าวเก่า และไม่ควรนำน้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ย และ สารเคมีฆ่าแมลง เก็บรวมไว้ในโรงเก็บเดียว
5.2 การจัดวางข้าวในโรงเก็บควรมีวัสดุรองพื้น ไม่ควรวางหรือกองข้าวกับพื้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากความชื้นจากพื้นโรงเก็บ
5.3 มีการหมุนเวียน เคลื่อนย้าย สลับที่ หรือพลิกกลับข้าวเป็นระยะเวลาที่กำหนด เพื่อทำให้ข้าวระบายความร้อนและความชื้นที่สะสมในกองออก
5.4 ข้าวที่บรรจุในกระสอบป่าน ควรจัดวางบนแคร่ไม้สูงจากพื้นประมาณ 10 เซนติเมตร
5.5 อย่าจัดวางกองข้าวชิดผนังโรงเก็บ หรือกองสูงเกินไป ควรห่างจากฝาผนังโรงเก็บทุกด้านอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อการระบายอากาศที่ดี
5.6 ทำความสะอาดภายใน และภายนอกโรงเก็บสม่ำเสมอ รวมทั้งดูแลทำความสะอาดบริเวณพื้นโรงเก็บทุกวัน และทำความสะอาดรอบกองข้าว
5.7 ตรวจสอบข้าวที่เก็บรักษาไว้อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อป้องกันการทำลายของแมลง นก หนู หรือจุลินทรีย์ต่างๆ และสุ่มตัวอย่างไปตรวจสอบการทำลายของแมลงศตรูเดือนละครั้ง
5.8 ภาชนะบรรจุที่ใช้แล้ว เมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ต้องทำความสะอาดเพื่อกำจัดแมลงศัตรูที่เหลืออยู่
5.9 ภายในโรงเก็บ ควรมีตาข่ายป้องกันนกบินเข้ามาตามช่องปิด และป้องกันกำจัดหนู โดยการใช้กับดัก หรือเหยื่อพิษ
การเก็บรักษาเมล็ดข้าวในโรงเก็บ
การเก็บรักษาเมล็ดข้าว
CONTACT
169/47 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.กระทุ่มล้ม  อ.สามพราน จ.นครปฐม 73220
086-070-0007
ananindustry@gmail.com
https://www.ananindustry.com
WORKING DAYS/HOURS
วันจันทร์ - วันเสาร์
8.00 - 17.00 น.
Copyright © 2008 Anan Industry Company Limited. All Rights Reserved